หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญของกล้วย

โรคที่ระบาดในกล้วยที่สำคัญคือ
  • โรคตายพราย (Panama disease หรือ Fusarium wilt) เกิดจากเชื้อรา Fusarium oxysporum f.sp. Cubense เข้าทำลายราก และมีการเจริญเข้าไปในท่อน้ำ ท่ออาหาร ทำให้เกิดอุดตัน ใบจึงมีอาการขาดน้ำ เหี่ยวเฉา และเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หักพับ การเจริญจะชะงักงัน และตายในที่สุด โรคนี้สามารถระบาดไปทางดิน ดังนั้นต้นที่อยู่ในบริเวณนั้นจะถูกโรคนี้ทำลายหมด จึงควรทำความสะอาดโคนกอกล้วย อย่าให้รก ทำทางระบายน้ำให้ดี และราดด้วยแคปแทน ๔๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
  • โรคใบจุด (Leaf spot) โรคใบจุด มีหลายชนิด เช่น โรคซิกาโตกาสีเหลือง เฟโอเซปทอเรียใบจุด ใบจุดสีดำ ใบจุดสีน้ำตาล ใบจุดสีกระ แต่ละโรคเกิดจากเชื้อราต่างชนิดกัน ส่วนใหญ่โรคที่พบในกล้วยหอมทอง คือ โรคเฟโอเซปทอเรียใบจุด เกิดจากเชื้อรา Phaeoseptoria musae ลักษณะอาการคือ ใบเกิดเป็นจุดเล็กขนาดเท่าหัวเข็มหมุด สีน้ำตาลดำ รูปร่างยาวรี เมื่อความชื้นเหมาะสมแผลตรงกลางจะแห้งเป็นสีน้ำตาลอ่อนปนเทา ขอบแผลเป็นแถบสีน้ำตาลเข้ม และรอบนอกเป็นสีเหลือง เมื่อเริ่มมีโรคระบาด ควรพ่นด้วยเบนโนมิล ๑๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร ที่ใบ โรคใบจุดที่พบอีกชนิดคือ โรคซิกาโตกาสีเหลือง เกิดจากเชื้อรา Cercospora musae มีลักษณะอาการคือ เกิดจุดเล็กๆ สีเหลือง ต่อมาจุดนี้ขยายใหญ่ เป็นขีดสีเหลืองขนานไปตามเส้นใบ ขนาดของแผลโตขึ้น มีรูปร่างเหมือนไข่ ตรงกลางแห้งเป็นสีน้ำตาลปนเทา ถ้าพบโรคใบจุดเหล่านี้ ควรตัดใบที่แสดงอาการของโรคมาเผาทิ้ง และพ่นใบที่เหลือด้วยคาร์เบนดาซิม ๑๖ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
แมลงศัตรูที่สำคัญของกล้วยในประเทศไทยคือ
  • ด้วงงวง (stock weevil) ด้วงงวง จะเข้าทำลายที่รากและเหง้ากล้วย ทำให้ต้นกล้วยชะงักการเจริญเติบโต ใบเหี่ยวเฉา และตายในที่สุด ควรถางบริเวณโคนของกอกล้วยให้สะอาด อย่าให้รกหรือมีวัชพืช
  • หนอนม้วนใบ (leaf roller) ผีเสื้อจะมาวางไข่ในใบยอดที่ยังไม่คลี่ หลังจากนั้นไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนเจริญอยู่ในใบอ่อนที่ยังม้วนอยู่ ตัวหนอนจะกัดกินใบอ่อน ทำให้ใบแหว่ง เป็นรูพรุน หรือฉีกขาด และม้วนตัวอย่างรวดเร็ว จึงควรตัดใบที่ถูกทำลายมาเผาไฟให้หมด
ที่มา
http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=30&chap=6&page=t30-6-infodetail07.html

การปลูกและการดูแลกล้วย

กล้วยเป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้น ซึ่งเหมาะกับการปลูกในประเทศไทย ถ้าหากอุณหภูมิต่ำกว่า ๑๔ องศาเซลเซียส กล้วยจะชะงักการเจริญเติบโต หรือมีการเติบโตช้าลง รวมทั้งการออกดอกและติดผลจะช้าด้วย อนึ่ง กล้วยเป็นพืชที่มีแผ่นใบใหญ่ ดังนั้นจึงไม่ค่อยทนต่อแรงลม เพราะใบจะต้านลม ทำให้ใบแตกได้ ถ้าหากใบแตกมากจนเป็น ฝอย จะทำให้มีการสังเคราะห์อาหารได้น้อย ต้นไม่เจริญเท่าที่ควร ดังนั้นถ้าพื้นที่ที่มีลมแรงมาก ควรปลูกต้นไม้อื่นทำเป็นแนวกันลมให้ต้นกล้วย

ดินที่เหมาะสำหรับการปลูกกล้วยคือ ดินตะกอนธารน้ำที่ชาวบ้านเรียกว่า "ดินน้ำไหลทรายมูล" ซึ่งเป็นดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีการระบายน้ำ และการหมุนเวียนอากาศดี ถ้าดินเป็นดินเหนียว ควรใส่ปุ๋ยคอก จะทำให้ดินร่วนโปร่งขึ้น

ระยะปลูก

กล้วยเป็นพืชที่มีใบยาว หากปลูกในระยะใกล้กันมาก อาจทำให้ใบเกยกัน หรือซ้อนกัน ทำให้ได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ และดูแลลำบาก การกำหนดระยะปลูกจึงควรคำนึงถึงเรื่องแสงแดด ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และความต้องการของผู้ปลูกว่าต้องการปลูกกล้วยเพื่อเก็บเกี่ยวกี่ครั้ง หากต้องการเก็บเกี่ยวเพียงครั้งเดียวก็อาจปลูกถี่ได้ แต่ถ้าต้องการเก็บเกี่ยวหลายๆ ครั้ง ต้องปลูกให้ห่างกัน เพื่อมีพื้นที่สำหรับการแตกหน่อ

การปลูก

ขุดหลุมให้มีขนาดความ กว้าง ๕๐ เซนติเมตร ลึก ๕๐ เซนติเมตร นำดินที่ขุดได้กองตากไว้ ๕ - ๗ วัน หลังจากนั้นเอาดินชั้นบนที่ตากไว้ลงไปก้นหลุม ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้ว ให้สูงขึ้นมาประมาณ ๒๐ เซนติเมตร  คลุกเคล้าปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักกับดินชั้นบนที่ใส่ลงไป แล้วจึงเอาหน่อกล้วยที่เตรียมไว้ วางที่ตรงกลางหลุม เอาดินล่างกลบ รดน้ำ และกดดินให้แน่น ยอดของหน่อควรสูงกว่าระดับดินประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ควรหันรอยแผลของหน่อให้อยู่ในทิศทางเดียวกัน เพราะเมื่อโตเต็มที่และติดผล ผลจะเกิดในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับรอยแผล และอยู่ในทิศทางเดียวกัน เพื่อสะดวกในการทำงาน แต่หากเป็นต้นที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จะไม่มีทิศทางของรอยแผล ในการวางต้นจึงจำเป็นต้องมีทิศทาง

ถ้าหากพื้นที่นั้นเป็นดินเหนียว ควรทำการยกร่อง จะได้ระบายน้ำ และปลูกบนสันร่องทั้ง ๒ ข้าง และเพื่อให้การปฏิบัติงานทำได้ง่าย ควรวางหน่อให้กล้วยออกเครือไปทางกลางร่อง

การกำจัดหน่อ

เมื่อต้นกล้วยมีอายุได้ ๔ - ๖ เดือน จะเริ่มมีการแตกหน่อ หน่อที่เกิดมาเรียกว่า หน่อตาม (follower) กล้วยบางพันธุ์ที่มีหน่อมาก ควรเอาหน่อออกบ้าง เพื่อมิให้หน่อแย่งอาหารจากต้นแม่ ควรเก็บหน่อไว้ ๑ - ๒ หน่อ เพื่อให้เป็นตัวพยุงต้นแม่เมื่อมีลมแรง และเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตในปีต่อไป วิธีการกำจัดหน่ออาจใช้เสียมที่คมหรือมีดแซะลงไป หรือใช้มีดตัดหรือคว้านหน่อที่อยู่เหนือดิน แล้วใช้น้ำมันก๊าด หรือสารกำจัดวัชพืชหยอดที่บริเวณจุดเจริญ เพื่อไม่ให้มีการเจริญเป็นต้น แต่ไม่ควรแซะหน่อในระหว่างการออกดอก เพราะต้นอาจกระทบกระเทือนได้

นอกจากการกำจัดหน่อแล้ว ควรตัดใบที่แห้งออก เพราะถ้าทิ้งไว้อาจเป็นแหล่ง สะสมโรค ใน ๑ ต้น ควรเก็บใบไว้ประมาณ ๗ - ๑๒ ใบ

การให้ปุ๋ย

กล้วยเป็นพืชที่ต้องการธาตุอาหารมาก การติดผลจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับอาหารและน้ำที่ได้รับ ดังนั้นควรบำรุงโดยใส่ปุ๋ย ทั้งปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก และปุ๋ยเคมี ตั้งแต่เริ่มปลูก ในระยะแรกควรให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนมากในช่วง ๒ เดือนแรก โดยให้ปุ๋ยยูเรียเดือนละครั้ง และเดือนที่ ๓ และ ๔ ให้ปุ๋ยสูตร ๑๕ - ๑๕ - ๑๕ ต้นละ ๑-๒ กิโลกรัม ส่วนในเดือนที่ ๕ และ ๖ ให้ใส่ปุ๋ยสูตร ๑๓ - ๑๓ - ๒๑ ต้นละ ๑-๒ กิโลกรัม

การค้ำยัน

กล้วยบางพันธุ์มีผลดกมาก โดยมีจำนวนหวีมากและผลใหญ่ ต้นที่มีขนาดเล็ก หากไม่ค้ำไว้ ต้นอาจล้ม ทำให้เครือหักได้ เช่น กล้วยหอมทอง กล้วยไข่ จำเป็นต้องค้ำบริเวณโคนเครือกล้วยไว้ โดยใช้ไม้ไผ่หรือไม้อื่นที่มีง่าม

การให้ผล

กล้วยจะออกดอกเมื่ออายุต่างกันตามชนิดของกล้วย เช่น กล้วยไข่ เริ่มออกดอกเมื่ออายุประมาณ ๕ - ๖ เดือน และกล้วยหอมทองจะเริ่มออกดอกเมื่ออายุได้ประมาณ ๖ - ๗ เดือน ส่วนกล้วยน้ำว้า และกล้วยหักมุกใช้เวลานานกว่า และผลจะแก่ ในระยะเวลาที่ต่างกัน ดังแสดงในตารางที่ ๒

การคลุมถุง

ถ้าหากปลูกกล้วยเพื่อการส่งออก ควรทำการคลุมถุง ถุงที่ใช้ควรเป็นถุงพลาสติกสีฟ้าขนาดใหญ่ และยาวกว่าเครือกล้วย เจาะรูเป็นระยะๆ และเปิดปากถุง ทำให้มีอากาศถ่ายเทได้ ถ้าหากไม่เจาะรูและปิดปากถุง อาจทำให้กล้วยเน่าได้

ที่มา 
http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=30&chap=6&page=t30-6-infodetail06.html


-->

พันธุ์กล้วยในประเทศไทย

ประเทศไทยมีการปลูกกล้วยกันมาช้านาน กล้วยที่ปลูกมีมากมายหลายชนิด พันธุ์กล้วยที่ใช้ปลูกในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณนั้น มีทั้งพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม และนำเข้ามาจากประเทศใกล้เคียง กล้วยที่รู้จักกันในสมัยสุโขทัยคือ กล้วยตานี และปัจจุบันในจังหวัดสุโขทัยก็ยังมีการปลูกกล้วยตานีมากที่สุด แต่เรากลับไม่พบกล้วยตานีในป่า ทั้งๆ ที่กล้วยตานีก็เป็นกล้วยป่าชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย จีน และพม่า ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า กล้วยตานีน่าจะนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนต้น หรือช่วงการอพยพของคนไทยมาตั้งถิ่นฐานที่สุโขทัย

ในสมัยอยุธยา เดอลาลูแบร์ (De La Loub`ere) อัครราชทูตชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาเมืองไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ ได้เขียนบันทึกถึงสิ่งที่เขาได้พบเห็นในเมืองไทยไว้ว่า ได้เห็นกล้วยงวงช้าง ซึ่งก็คือ กล้วยร้อยหวีในปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่ปลูกไว้เพื่อเป็นไม้ประดับนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีตำนานเล่ากันมาว่า มีการค้าขายกล้วยตีบอีกด้วย แสดงให้เห็นว่า ได้มีการปลูกกล้วยทั้งเพื่อความสวยงาม และเพื่อการบริโภคกันมาช้านานแล้ว

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ ในรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ซึ่งเป็นปรมาจารย์ทางด้านภาษาไทย ได้เขียนหนังสือ พรรณพฤกษากับสัตวาภิธาน เพื่อเป็นแบบเรียนภาษาไทยสำหรับใช้ในโรงเรียน กล่าวถึงชื่อของพรรณไม้และสัตว์ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในเมืองไทย โดยเรียบเรียงเป็นกาพย์ฉบัง ๑๖ เพื่อให้ไพเราะและจดจำได้ง่าย ในหนังสือดังกล่าวมีข้อความที่พรรณนาถึงชื่อกล้วยชนิดต่างๆ ไว้ดังนี้
อ่านเพิ่ม http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=30&chap=6&page=t30-6-infodetail05.html
จากกาพย์ดังกล่าว ทำให้เราได้ทราบชนิดของกล้วยมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงความนิยมในการปลูกกล้วยในสมัยนั้น ทั้งนี้เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสประเทศต่างๆ หลายประเทศ จึงได้มีการนำกล้วยบางชนิดเข้ามาปลูกในรัชสมัยของพระองค์

หลังจากที่นักวิชาการชาวตะวันตกได้เริ่มจำแนกชนิดของกล้วยตามลักษณะทางพันธุกรรม โดยใช้จีโนมของกล้วยเป็นตัวกำหนดในการแยกชนิดตามวิธีของซิมมอนดส์ และเชบเฟิร์ด ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น จึงกล่าวได้ว่า กล้วยที่บริโภคกันอยู่ในปัจจุบันมีบรรพบุรุษอยู่เพียง ๒ ชนิดเท่านั้น คือ กล้วยป่า และกล้วยตานี กล้วยที่มีกำเนิดจากกล้วยป่ามีจีโนมทางพันธุกรรมเป็น AA ส่วนกล้วยที่มีกำเนิดจากกล้วยตานีมีจีโนม เป็น BB และกล้วยลูกผสมของทั้ง ๒ ชนิด มีจีโนมเป็น AAB, ABB, AABB และ ABBB นอกจากนี้ ซิมมอนดส์ยังได้จำแนกชนิดของกล้วยในประเทศไทยว่ามีอยู่ ๑๕ พันธุ์

ต่อมา นักวิชาการไทยได้ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพันธุ์และชนิดของกล้วย คือ ใน พ.ศ. ๒๕๑๐ วัฒนา เสถียรสวัสดิ์ และปวิณ ปุณศรี ได้ทำการรวบรวมพันธุ์กล้วยที่พบในประเทศได้ ๑๒๕ สายพันธุ์ และจากการจำแนกจัดกลุ่มแล้ว พบว่ามี ๒๐ พันธุ์ หลังจากนั้นในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๓ - ๒๕๒๖ เบญจมาศ ศิลาย้อย และฉลองชัย แบบประเสริฐ แห่งภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการสำรวจพันธุ์กล้วยในประเทศไทย และรวบรวมพันธุ์ไว้ที่สถานีวิจัยปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยรวบรวมได้ทั้งหมด ๓๒๓ สายพันธุ์ แต่เมื่อจำแนกชนิดแล้ว พบว่ามีอยู่เพียง ๕๓ พันธุ์ หลังจากสิ้นสุดโครงการ ยังได้ทำการรวบรวมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พบว่ามีอยู่ ๗๑ พันธุ์ รวมทั้งกล้วยป่าและกล้วยประดับ ทั้งนี้ไม่นับรวมพันธุ์กล้วยที่ได้มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งมีอีกหลายพันธุ์ ปัจจุบันกล้วยในเมืองไทย ซึ่งจำแนกชนิดตามจีโนม มีดังนี้

๑. กลุ่ม AA

ที่พบในประเทศไทยมี กล้วยป่า สำหรับกล้วยกินได้ในกลุ่มนี้มีขนาดเล็ก รสหวาน กลิ่นหอม รับประทานสด ได้แก่ กล้วยไข่ กล้วยเล็บมือนาง กล้วยหอมจันทร์ กล้วยไข่ทองร่วง กล้วยไข่จีน กล้วยน้ำนม  กล้วยไล กล้วยสา กล้วยหอม กล้วยหอมจำปา กล้วยทองกาบดำ

๒. กลุ่ม AAA

กล้วยกลุ่มนี้มีจำนวน โครโมโซม 2n = 33 ผลจึงมีขนาดใหญ่กว่ากลุ่มแรก รูปร่างผลเรียวยาว มีเนื้อนุ่ม รสหวาน กลิ่นหอม รับประทานสดเช่นกันได้แก่ กล้วยหอมทอง กล้วยนาก กล้วยครั่ง กล้วยหอมเขียว กล้วยกุ้งเขียว กล้วยหอมแม้ว กล้วยไข่พระตะบอง กล้วยคลองจัง

๓. กลุ่ม BB

ในประเทศไทยจะมีแต่กล้วยตานี  ซึ่งเป็นกล้วยป่าชนิดหนึ่ง แต่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย รับประทานผลอ่อนได้ โดยนำมาใส่แกงเผ็ด ทำส้มตำ ไม่นิยมรับประทานผลแก่ เพราะมีเมล็ดมาก แต่คนไทยและคนเอเชียส่วนใหญ่รับประทานปลีและหยวก ไม่มีกล้วยกินได้ในกลุ่ม BB ในประเทศไทย แต่พบว่ามีที่ประเทศฟิลิปปินส์

๔. กลุ่ม BBB

กล้วยในกลุ่มนี้เกิดจากกล้วยตานี (Musa balbisiana) เนื้อไม่ค่อยนุ่ม ประกอบด้วยแป้งมาก เมื่อสุกก็ยังมีแป้งมากอยู่ จึงไม่ค่อยหวาน ขนาดผลใหญ่ เมื่อนำมาทำให้สุกด้วยความร้อน จะทำให้รสชาติดีขึ้น เนื้อเหนียวนุ่ม เช่น กล้วยเล็บช้างกุด

๕. กลุ่ม AAB

กล้วยกลุ่มนี้เกิดจากการผสมระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี เมื่อผลสุก มีรสชาติดีกว่ากล้วยกลุ่ม ABB ได้แก่ กล้วยน้ำ กล้วยน้ำฝาด กล้วยนมสวรรค์ กล้วยนิ้วมือนาง กล้วยไข่โบราณ กล้วยทองเดช กล้วยศรีนวล กล้วยขม กล้วยนมสาว แต่มีกล้วยกลุ่ม AAB บางชนิดที่มีความคล้ายกับ ABB กล่าวคือ เนื้อจะค่อนข้างแข็ง มีแป้งมาก เมื่อสุกเนื้อไม่นุ่ม ทั้งนี้อาจได้รับเชื้อพันธุกรรมของกล้วยป่าที่ต่าง sub species กัน จึงทำให้ลักษณะต่างกัน กล้วยในกลุ่มนี้เรียกว่า plantain subgroup ซึ่งจะต้องทำให้สุกโดยการต้ม ปิ้ง เผา เช่นเดียวกับกลุ่ม ABB ได้แก่ กล้วยกล้าย กล้วยงาช้าง กล้วยนิ้วจระเข้ กล้วยหิน กล้วยพม่าแหกคุก

๖. กลุ่ม ABB

กล้วยกลุ่มนี้เป็นลูกผสมระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี มีแป้งมาก ขนาดผลใหญ่ ไม่นิยมรับประทานสด เพราะเมื่อสุกรสไม่หวานมาก บางครั้งมีรสฝาด เมื่อนำมาต้ม ปิ้ง ย่าง และเชื่อม จะทำให้รสชาติดีขึ้น ได้แก่ กล้วยหักมุกเขียว กล้วยหักมุกนวล กล้วยเปลือกหนา กล้วยส้ม กล้วยนางพญา กล้วยนมหมี กล้วยน้ำว้า สำหรับกล้วยน้ำว้าแบ่งออกเป็น ๓ ชนิด ตามสีของเนื้อ คือ น้ำว้าแดง น้ำว้าขาว และน้ำว้าเหลือง คนไทยรับประทานกล้วยน้ำว้า ทั้งผลสด ต้ม ปิ้ง และนำมาประกอบอาหาร นอกจากนี้ยังมีกล้วยน้ำว้าดำ ซึ่งเปลือกมีสีครั่งปนดำ แต่เนื้อมีสีขาว รสชาติอร่อยคล้ายกล้วยน้ำว้าขาว สำหรับกล้วยตีบ เหมาะที่จะรับประทานผลสด เพราะเมื่อนำไปย่าง หรือต้มจะมีรสฝาด

๗. กลุ่ม ABBB

กล้วยในกลุ่มนี้เป็นลูกผสมเช่นกัน จึงมีแป้งมาก และมีอยู่พันธุ์เดียวคือ กล้วยเทพรส หรือกล้วยทิพรส ผลมีขนาดใหญ่มาก บางทีมีดอกเพศผู้หรือปลี บางทีไม่มี ถ้าหากไม่มีดอกเพศผู้ จะไม่เห็นปลี และมีผลขนาดใหญ่ ถ้ามีดอกเพศผู้ ผลจะมีขนาดเล็กกว่า มีหลายหวีและหลายผล การมีปลีและไม่มีปลีนี้เกิดจากการกลายพันธุ์แบบกลับไปกลับมาได้ ดังนั้นจะเห็นว่า ในกอเดียวกันอาจมีทั้งกล้วยเทพรสมีปลี และไม่มีปลี หรือบางครั้งมี ๒ - ๓ ปลี ในสมัยโบราณเรียกกล้วยเทพรสที่มีปลีว่า กล้วยทิพรส กล้วยเทพรสที่สุกงอมจะหวาน เมื่อนำไปต้มมีรสฝาด

๘. กลุ่ม AABB

เป็นลูกผสมมีเชื้อพันธุกรรมของกล้วยป่ากับกล้วยตานี กล้วยในกลุ่มนี้มีอยู่ชนิดเดียวในประเทศไทย คือ กล้วยเงิน ผลขนาดใหญ่ รูปร่างคล้ายกล้วยไข่ เมื่อสุกผิวสีเหลืองสดใส เนื้อผลสีส้ม มีแป้งมาก รับประทานผลสด

นอกจากกล้วยดังที่ได้กล่าวแล้ว ยังมีกล้วยป่าที่เกิดในธรรมชาติซึ่งมีเมล็ดมาก ทั้งกล้วยในสกุล Musa acuminata และ Musa itinerans หรือที่เรียกว่า กล้วยหก หรือกล้วยอ่างขาง และกล้วยป่าที่เป็นกล้วยประดับ เช่น กล้วยบัวสีส้ม และกล้วยบัวสีชมพู


วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การจำแนกชนิดของกล้วย (Taxonomy)


กล้วยจัดอยู่ในอันดับ (order) Scitamineae หรือ Zingiberales ประกอบด้วย ๘ วงศ์ (family) ด้วยกัน คือ

        ๑. Musaceae ได้แก่ กล้วยทั้งหลาย
        ๒. Strelitziaceae ได้แก่ กล้วยพัด
        ๓. Heliconiaceae ได้แก่ ก้ามกุ้ง ธรรมรักษา
        ๔. Lowiaceae ได้แก่ พืชในสกุล Orchidantha ซึ่งไม่มีในประเทศไทย
        ๕. Costaceae ได้แก่ เอื้องหมายนา
        ๖. Zingiberaceae ได้แก่ ขิงทั้งหลาย
        ๗. Marantaceae ได้แก่ คล้า
        ๘. Cannaceae ได้แก่ พุทธรักษา

ในที่นี้จะอธิบายเฉพาะกล้วยในสกุล Musaceae ซึ่งมีทั้งกล้วยกินได้ และกล้วยประดับ

Musaceae

แบ่งเป็น ๓ สกุล (genus) ด้วยกัน คือ

๑. สกุล Ensete

เป็นกล้วยที่ไม่มีการแตกหน่อ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ในประเทศไทยมี ๒ ชนิด (species) คือ

  • E. superba  กล้วยผา
  • E. glauca  กล้วยนวล กล้วยญวน
กล้วยชนิดนี้ในประเทศไทยไม่มีการนำมาบริโภค แต่ในประเทศแถบทวีปแอฟริกานำแป้งที่ได้จากลำต้นมาใช้บริโภค

๒. สกุล Musa

เป็นกล้วยที่มีการแตกหน่อ และนิยมใช้หน่อในการขยายพันธุ์ มีทั้งกล้วยกินได้ และกล้วยประดับ แบ่งออก เป็น ๔ หมู่ (section) คือ
  • หมู่ Australimusa กล้วยชนิดนี้มีช่อดอกตั้ง มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบทวีปออสเตรเลีย จนถึงประเทศฟิลิปปินส์ เส้นใยของลำต้นเทียมมีความเหนียวมาก เหมาะในการทำเชือก กระดาษ และทอเป็นผ้า
  • หมู่ Callimusa ส่วนใหญ่เป็นกล้วยประดับ ในประเทศไทยมีกล้วยทหารพราน หรือกล้วยเลือด (Musa gracillis) ใบสีเขียว มีปื้นสีม่วง เมื่อโตเต็มที่สีของปื้นอาจจางลง ช่อดอกตั้ง ผลมีขนาดเล็ก ใช้ประดับเพราะมีใบสวยงาม นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเข้ากล้วยกัทลี หรือรัตกัทลี (Musa coccinea) จากประเทศอินโดนีเซีย กล้วยชนิดนี้มีใบ ประดับสีแดงสดใส ช่อดอกตั้ง ใช้เป็นไม้ตัดดอกได้เป็นอย่างดี
  • หมู่ Rhodochlamys หรือเรียกกันว่า กล้วยบัว ใช้เป็นไม้ประดับ มีความสวยงามของช่อดอกที่คล้ายดอกบัว ใบประดับมีสีสวยงามและสดใส กล้วยบัวที่มีใบประดับสีชมพูอมม่วง เรียกว่า กล้วยบัวสีชมพู (Musa ornata) หากมีใบประดับสีส้ม เรียกว่า กล้วยบัวสีส้ม (Musa laterita) ทั้ง ๒ พันธุ์นี้เป็นพันธุ์พื้นเมืองของไทย พบมากในภาคเหนือ นอกจาก ๒ ชนิดนี้แล้ว ได้มีการนำเข้ากล้วยบัวสีม่วงและสีชมพูอ่อนจากต่างประเทศอีกด้วย
  • หมู่ Eumusa มี ๙ - ๑๐ ชนิด มีทั้งกล้วยป่าและกล้วยกินได้ ซึ่งกล้วยกินได้นั้นถือกำเนิดมาจากกล้วย ๒ ชนิดผสมกัน คือ กล้วยป่า (Musa acuminata) กับกล้วยตานี (Musa balbisiana) ผ่านวิวัฒนาการอันยาวนานนับหลายพันปี กล้วยป่ามีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนกล้วยตานีมีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย หรือเอเชียใต้ ต่อมาได้เกิดการผสมพันธุ์กันขึ้นระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี ทำให้เกิดพันธุ์กล้วยลูกผสมดังกล่าว นอกจากนี้แล้วยังอาจเกิดจากการกลายพันธุ์ ทำให้เกิดพันธุ์มากมายมากกว่า ๑๐๐ พันธุ์ในโลกนี้ และเกิดการพัฒนาจากกล้วยที่มีเมล็ด เป็นกล้วยที่ไม่มีเมล็ด ทำให้กล้วยที่รับประทานกันอยู่ในปัจจุบันไม่มีเมล็ด
๓. สกุล Musella

เป็นกล้วยที่จัดอยู่ในสกุลใหม่ ต้นเตี้ย คล้ายกล้วยผา ลำต้นเทียม มีลักษณะพองเช่นกัน แต่มีการแตกกอที่เกิดจากมุมระหว่างใบ มีช่อดอกตั้ง และกลีบใบประดับสีเหลืองสดใส ขนาดของดอกใหญ่ เช่น กล้วยคุนหมิง

ที่มา
http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=30&chap=6&page=t30-6-infodetail03.html
-->






ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกล้วย





ลำต้น

กล้วยมีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า หัว หรือ เหง้า (rhizome) ที่หัวมีตา (bud) ซึ่งจะเจริญเป็นต้นเกิด หน่อ (sucker) หลายหน่อ เรียกว่า การแตกกอ  หน่อที่เกิด หรือต้นที่เห็นอยู่เหนือดิน ความจริงแล้วมิใช่ลำต้น เราเรียกว่า ลำต้นเทียม (pseudostem) ส่วนนี้เกิดจากการอัดกันแน่นของกาบใบ ที่เกิดจากจุดเจริญของลำต้นใต้ดิน กาบใบจะชูก้านใบ และใบ และที่จุดเจริญนี้ จะมีการเจริญเป็นดอกตามขึ้นมาหลังจากสิ้นสุดการเจริญของใบ  ใบสุดท้ายก่อนการเกิดดอก เรียกว่า ใบธง






ดอก

ดอกของกล้วยออกเป็นช่อ (inflorescence) ในช่อดอกยังมีกลุ่มของช่อดอกย่อยเป็นกลุ่มๆ  ระหว่างกลุ่มของช่อดอกย่อยแต่ละช่อจะมีกลีบประดับ หรือที่เราเรียกกันว่า กาบปลี (bract) มีสีม่วงแดงกั้นไว้ กลุ่มดอกเพศเมียอยู่ที่โคน และกลุ่มดอกเพศผู้อยู่ที่ปลาย เป็นส่วนที่เราเรียกว่า หัวปลี (male bud) ระหว่างกลุ่มดอกเพศเมีย และดอกเพศผู้ มีดอกกะเทย แต่บางพันธุ์ก็ไม่มี ในช่อดอกย่อยแต่ละช่อมีดอกเรียงซ้อนกันอยู่ ๒ แถว ถ้าเป็นดอกเพศเมีย ดอกเหล่านี้จะเจริญต่อไปเป็นผล

ผล

ผลกล้วยเกิดจากดอกเพศเมีย ซึ่งอยู่ที่โคน กลุ่มของดอกเพศเมีย ๑ กลุ่ม เจริญเป็นผล  เรียกว่า ๑ หวี ช่อดอกเจริญเป็น ๑  เครือ ดังนั้นกล้วย ๑ เครืออาจมี ๒ - ๓ หวี หรือมากกว่า ๑๐ หวี ทั้งนี้แล้วแต่พันธุ์กล้วยและการดูแล

ผลของกล้วยมีการเจริญได้โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ จึงทำให้กล้วยส่วนใหญ่ไม่มีเมล็ด

เมล็ด

เมล็ดกล้วยมีลักษณะกลมเล็ก บางพันธุ์มีขนาดใหญ่ เปลือกหนา แข็ง มีสีดำ

ราก

เป็นระบบรากฝอย แผ่ไปทางด้านกว้างมากกว่าทางแนวดิ่งลึก

ใบ

ใบกล้วยมีลักษณะเป็นแผ่นใบใหญ่ มีความกว้างประมาณ ๗๐ - ๙๐ เซนติเมตร ความยาว ๑.๗ - ๒.๕ เมตร ปลายใบมน รูปใบขอบขนาน โคนใบมน และแผ่นใบมีสีเขียว ใบกล้วยใบอ่อนจะม้วนเข้าเรียกว่า            ใบแบบซิกา (Cigar leaf)

ใบซิกา(Cigar leaf)









ที่มา
http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=30&chap=6&page=t30-6-infodetail02.html



-->


วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2553

ประวัติความเป็นมาของกล้วย (Banana)

 ถิ่นกำเนิดของกล้วย

             กล้วยเป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้น กล้วยมีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะพบกล้วยพื้นเมืองทั้งที่มีเมล็ดและไม่มีเมล็ด และจากผลของการย้ายถิ่นฐานในการทำมาหากิน การอพยพประชากรจากเอเชียตอนใต้ไปยังหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่ต้นคริสต์ศักราชเป็นต้นมา ในการอพยพแต่ละครั้งจะต้องมีการนำเอาเสบียงอาหารติดตัวไปด้วย จึงได้มีการนำเอากล้วยไปปลูกแถบหมู่เกาะฮาวายและหมู่เกาะทางด้านตะวันออก

จากการศึกษาพบว่า กล้วยมีวิวัฒนาการถึง ๕๐ ล้านปีมาแล้ว ดังนั้นจึงเป็นไม้ผลที่มนุษย์รู้จักบริโภคเป็นอาหารกันอย่างแพร่หลาย เชื่อกันว่า กล้วยเป็นไม้ผลชนิดแรก ที่มีการปลูกเลี้ยงไว้ตามบ้าน และได้แพร่พันธุ์จากเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังดินแดนอื่นๆ ในระยะเวลาต่อมา

กล้วยมีการปลูกกันมากในเอเชียใต้ แม้ในปัจจุบัน ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีการปลูกกล้วยมากที่สุดในโลก และมีพันธุ์กล้วยมากมายอีกด้วย เหมาะสมกับที่มีการกล่าวกันไว้ในหนังสือของชาวอาหรับว่า "กล้วยเป็นผลไม้ของชาวอินเดีย" ต่อมา ได้มีหมอของจักรพรรดิโรมันแห่งกรุงโรมชื่อว่า แอนโตนิอุส มูซา (Antonius Musa) ได้นำหน่อกล้วยจากอินเดีย ไปปลูกทางตอนเหนือของอียิปต์ เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว หลังจากนั้น มีการแพร่ขยายพันธุ์กล้วยไปในดินแดนของแอฟริกา ที่ชาวอาหรับเข้าไปค้าขาย และพำนักอาศัย จนกระทั่งเมื่อประมาณ ค.ศ. ๙๖๕ ได้มีการกล่าวถึงกล้วยว่า ใช้ในการประกอบอาหารชนิดหนึ่งของชาวอาหรับ ซึ่งอร่อย และเป็นที่เลื่องลือมาก ชื่อว่า กาลาอิฟ (Kalaif ) เป็นอาหารที่ปรุงด้วยกล้วย เมล็ดอัลมอนด์ น้ำผึ้ง ผสมกับน้ำมันนัต (Nut oil) ซึ่งสกัดจากผลไม้เปลือกแข็งชนิดหนึ่ง นอกจากใช้ประกอบอาหารแล้ว ชาวอาหรับยังใช้กล้วยทำยาอีกด้วย ชาวอาหรับเรียกกล้วยว่า "มูซา" ตามชื่อของหมอ ที่เป็นผู้นำกล้วยเข้ามาในอียิปต์เป็นครั้งแรก

ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ ชาวโปรตุเกสได้เดินเรือไปค้าขายบริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา และได้นำกล้วยไปแพร่พันธุ์ที่หมู่เกาะคะแนรี ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีป หลังจากนั้น ชาวสเปนจึงได้นำกล้วยจากหมู่เกาะคะแนรีเข้าไปปลูกในหมู่เกาะอินดีสตะวันตกในอเมริกากลาง โดยเริ่มปลูก ที่อาณานิคมซันโตโดมิงโก บนเกาะฮิสปันโยลาเป็นแห่งแรก แล้วขยายไปปลูกที่เกาะอื่นในเวลาต่อมา ส่งผลให้ดินแดนในอเมริกากลางมีการปลูกกล้วยเป็นพืชเศรษฐกิจกันอย่างแพร่หลาย และนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา ได้กลายเป็นแหล่งปลูกกล้วยส่งเป็นสินค้าออกมากที่สุดของโลก โดยปลูกมากในประเทศคอสตาริกา และประเทศฮอนดูรัส

          แต่อย่างไรก็ตามแหล่งกำเนิดจริงๆ ของกล้วยยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ทฤษฎีของซิกมอนด์และเชเพิร์ด ที่ได้รับการยอมรับกันเป็นส่วนใหญ่เสนอว่า ดินแดนแถบอินโด-มาเลเซีย ถือเป็นศูนย์กลางความหลากหลาย ของกล้วยที่สำคัญที่สุด มาเลเซียจึงอาจเป็นศูนย์กลางของกล้วยในระยะแรกๆ ก็ได้ จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การปลูกกล้วยขยายออกไปทั่วเขตร้อน และเข้าไปในเขตอบอุ่นของเอเชีย อเมริกา แอฟริกาและออสเตรเลีย อาจกล่าวได้ว่าประเทศทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในเขตร้อน ฝนชุกโดยเฉพาะเอเชีย กล้วยเป็นผลไม้ที่ปลูกกันมาก บริโภคกันมากเป็นอันดับแรกของทุกประเทศ
           ประวัติกล้วยในประเทศไทย เข้าใจว่าประเทศไทยเป็นแหล่งกำเนิดของกล้วยป่าและต่อมาได้มีการนำเข้ากล้วยตานี และกล้วยชนิดอื่นในช่วงที่มีการอพยพของคนไทยในการตั้งถิ่นฐานอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย มีเอกสารกล่าวว่าในสมัยอยุธยาพบว่ามีกล้วยร้อยหวี   จากหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุด คือ จดหมายเหตุของลาลูแบร์ ที่เขียนขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จดหมายเหตุกล่าวถึงกล้วยงวงช้าง  และกล้วยงาช้าง น่าจะหมายถึง กล้วยยักษ์ และกล้วยร้อยหวี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เมื่อกล้วยมีกำเนิดอยู่ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดังที่กล่าวแล้วนั้น จึงย่อมเชื่อได้ว่ามีการปลูกกล้วยในเมืองไทยมานานก่อนสมัยอาณาจักรศรีวิชัย (พ.ศ.1200 โดยประมาณ) ส่วนในอินเดียได้รู้จักกล้วยกันมานานกว่าสามพันปีมาแล้ว โดยมีข้อความปรากฏตอนหนึ่งในมหากาพย์รามายณะกล่าวว่า “ เมื่อนางเกาสุริยาได้ฟังว่า พระรามมิได้มีการแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์แล้ว พระนางถึงกับล้มราวกับต้นกล้วยถูกฟันด้วยคมมีด ”





ที่มา
http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=30&chap=6&page=t30-6-infodetail01.html
http://www.biogang.net/blog/blog_detail.php?uid=19229&id=74




-->